บทที่ 1
บทนำ
ภูมิหลัง
“การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด
ความประพฤติและคุณธรรม ของบุคคล สังคมและบ้านเมืองใดให้
การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วน ล้วนพอเหมาะกันทุกด้าน
สังคม และบ้านเมืองนั้น ก็จะมีพลเมืองที่ธำรงรักษา ความเจริญ
มั่นคงของประเทศชาติไว้ และก้าวพัฒนาไปได้โดยตลอด”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษาไว้เมื่อปี พ.ศ.2542 นอกจากนี้ พระองค์ท่านยังได้มีพระบรมราโชวาทที่ความเกี่ยวข้องกับการศึกษาพระราชทานไว้ โดยได้พระราชทานไว้เนื่องในงานวันเด็กแห่งชาติ พุทธศักราช 2535 ซึ่งพระองค์ท่านได้กล่าวไว้อย่างสอดคล้องกันว่า
“การให้การศึกษาแก่เด็กต้องเริ่มตั้งแต่เกิด ขึ้นต้น ก็ต้องสอนให้รู้จัก
ใช้อวัยวะและประสาทส่วนต่าง ๆ ต้องคอยควบคุมฝึกหัด จนสามารถ
ใช้อวัยวะและประสาทส่วนนั้น ๆ ทำกิจวัตรทั้งปวงของตนเองได้ เมื่อ
สามารถทำกิจวัตรของตัวได้แล้ว ถัดมา ก็ต้องสอนให้รู้จักทำการต่าง ๆ
ให้รู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆ ตามที่ต้องการให้ได้มากขึ้น เพื่อทำให้ชีวิตมี
ความสะดวกมีความสบาย การให้การศึกษาขั้นนี้ ได้แก่การฝึกกายให้
มีความคล่องแคล่ว ชำนิชำนาญ และสามารถในการปฏิบัติ ประกอบ
กับการสอนวิชาความรู้ต่าง ๆ อันเป็นพื้นฐานสำหรับการประกอบอาชีพ
เลี้ยงตัว การให้การศึกษาอีกขั้นหนึ่ง คือการสอนและฝึกฝนให้เรียนรู้
วิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้นไป พร้อมทั้งการฝึกฝนให้รู้จักใช้เหตุผลสติปัญญา
และหาหลักการของชีวิต เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ความเจริญงอกงาม
ทั้งทางกายและทางความคิด”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของวิทยาลัยวิชาการศึกษา วันที่ ๒๙
พฤศจิกายน ๒๕๑๔ (ภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา. 2542 : 3)
นอกจากแนวพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานแนวทางในการดำเนินชีวิตมาตลอด 32 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง” ที่เน้นภายใต้หลักการ 3 หลักการ ซึ่งหมายถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในและ 2 เงื่อนไข ที่ต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบและระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน (เอกสารประกอบการประชุมสมัชชานานาชาติ แห่งประเทศไทย. 2550 :15) ดัง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔) ได้อัญเชิญหลักปรัชญามาใช้เป็นแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศซึ่งประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2550นี้ เป็นแผนที่เกิดจากการระดมพลังความคิดและการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวไทยจากทุกภาคส่วนทุกหมู่เหล่า ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มาร่วมกันดำเนินการในทุกขั้นตอนอย่างกว้างขวาง และเห็นพ้องร่วมกันอัญเชิญ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางปฏิบัติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่มีคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เกิดความสมดุล เป็นธรรมและยั่งยืน มุ่งสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” อันจะเป็นการเสริมสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนโดยถ้วนหน้าสมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ ตลอดเวลาหกทศวรรษที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ และพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่พสกนิกรที่ทรงให้ความสำคัญต่อการสร้างจิตสำนึกในศีลธรรมแก่ประชาชน ให้รู้จักประมาณตน ประหยัดอดออม ไม่โลภ มีคุณธรรมและจริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มีความเพียรและอดทน รู้จักเสียสละและแบ่งปันอยู่เสมอ ดังนั้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงจำเป็นต้อการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างศักยภาพในทุกมิติของประชาชน ทั้งด้านร่างกายที่มีความสมบูรณ์ แข็งแรง มีสติปัญญาใฝ่รู้ มีจิตสำนึกในคุณธรรมจริยธรรม มีความเพียรที่จะนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงยั่งยืน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญยิ่งขึ้นอีก จะเห็นได้ว่าการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นนั้นมีความจำเป็นอย่างมาก ต้องเร่งปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่น และการเตรียมความพร้อมให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ อย่างถูกต้องเหมาะสมนั้นเป็นการปูพื้นฐานให้เด็กช่วยเหลือตนเองได้และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคมต่อไป
พัฒนาการทางสังคมจะต้องเริ่มปลูกฝัง พัฒนาตั้งแต่เด็กปฐมวัยเพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่มและเริ่มมีความสามารถในการมีส่วนร่วมในกลุ่มเป็นระยะ ๆ ได้ การพัฒนาทักษะทางสังคมในวัยเด็กจะเกิดจากการเล่น การวาดภาพ การรับประทานอาหาร และการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อน (เยาวพา เดชะคุปต์. 2542 : 40 ) ดังนั้น พัฒนาการทางสังคมจึง
หมายถึง การพัฒนาความสามารถในการแสดงพฤติกรรมของบุคคลให้สอดคล้องกับแบบแผนที่ยอมรับจากสังคม เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งปัทมา ศุภกำเนิด (2545 : 8) และกับทัศนัย์ อุดมพันธ์ (2541 : 1) ได้กล่าวอย่างสอดคล้องกันว่าการจัดการศึกษาปฐมวัย ควรมีการจัดประสบการณ์ที่ปลูกฝังและส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการครบทุกด้าน โดยเฉพาะการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสังคมที่เหมาะสม เด็ก ๆ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักบทบาทหน้าที่ของตน มีความรับผิดชอบไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม ธีระ ชัยยุทธยรรยงค์ ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันนี้ว่า คนไทยในปัจจุบันมีความเห็นแก่ตัว ฟุ่มเฟือยทุกระดับ มีลักษณะมุ่งหาผลประโยชน์ใส่ตนเองโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง เพราะคนไทยพยายามที่จะก้าวจากสังคมเกษตรกรรม มาเป็นสังคมอุตสาหกรรม จึงรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกที่เน้นวัตถุเป็นส่วนมาก ทำให้คนเสาะแสวงหาและเร่งรัดทุกวิถีทาง เพื่อที่จะพัฒนาประเทศให้ เจริญด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดความฟุ้งเฟ้อหรูหรา มีความที่จะรับและเลียนแบบผู้อื่น ไปรับเอาข้อมูลในทางลบและทางบวก ตัวอย่างที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม ไม่มีการเลือกรับสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย ซึ่งนับวันการหลงผิดยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น จนมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเด็กและเยาวชน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำมาใช้ในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะในการพัฒนากับการเรียนการสอนที่ทำหน้าที่ในด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตประจำวัน มีสติ มีคุณธรรม มีจริยธรรม และแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้
การจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กนั้นจัดในรูปแบบกิจกรรมที่บูรณาการเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ผ่านการเล่นเพื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง เกิดการเรียนรู้ ได้พัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2538 : 4 -5) กล่าวว่า
การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยจะออกมาในรูปแบบของกิจกรรมประจำวัน ซึ่งในแต่ละวันจะมีการจัดกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสรี กิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมเกมการศึกษาและกิจกรรมเสริมประสบการณ์ และความสำคัญของการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์นั้น กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ (2540 : 19 -20) กล่าวว่า เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เด็กได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ ฝึกการทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นเป็นกลุ่ม ทั้งกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ กิจกรรมที่ฝึกให้เด็กมีโอกาสได้ฟัง พูด สังเกต คิด แก้ปัญหา ใช้เหตุผลและฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน โดยจัดกิจกรรมด้วยวิธีต่างๆ เช่น สนทนา สาธิต ทดลอง เล่านิทาน เล่นบทบาทสมมติ ร้องเพลง ท่องคำคล้องจอง ศึกษานอกสถานที่ เชิญวิทยากรมาให้ความรู้ ฯลฯ สอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาเอกชน (2535 : 47) ที่กล่าวว่า กิจกรรมเสริมประสบการณ์ช่วยให้เด็กมีความคิดรวบยอดที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะทางสติปัญญาให้เด็กเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเนื้อหาหน่วยการเรียนการสอน ตลอดจนส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมฝึกการกล้าแสดงออก นอกจากนั้นยังช่วยให้เด็กเกิดความรู้สึกอบอุ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับครู
ตลอดระยะเวลา 32 ปี ที่ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ได้ดำเนินการใช้มา มีการศึกษาเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังที่ นันทา ชุติแพทย์วิภา. (2545 : บทคัดย่อ) ได้ทำการศึกษาเรื่องผลการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนพระขวัญชัย ศรีพรรณ์ (เกตุธรรมโม) (2546 : บทคัดย่อ) ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการใช้แนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนวิชาพุทธศาสนา โดยการใช้หลักการสอนแบบอริยสัจกับการสอนแบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ พบว่า นักเรียนที่เรียนวิชาพุทธศาสนา โดยใช้วิธีการแบบอริยสัจกับการสอนแบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ มีการใช้แนวคิดตามหลักหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และสมพร พงษ์เสถียรศักดิ์ (2546 : บทคัดย่อ) ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการประพฤติตนตามคุณธรรมในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 1 ที่เรียนหลักธรรมในพระพุทธศาสนา โดยการสอนแบบโยโสมนสิการกับการสอนแบบไตรสิกขา พบว่า นักเรียนที่เรียนหลักธรรมในพระพุทธศาสนาโดยการสอนแบบโยโสมนสิการกับการสอนแบบไตรสิกขามีผลการเรียนแตกต่างกันอย่าง ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติและนักเรียนที่เรียนหลักธรรมในพระพุทธศาสนาโดยการสอนแบบโยโสมนสิการกับการสอนแบบไตรสิกขา มีการประพฤติตามคุณธรรมในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ นภัสวรรณ ชื่นฤดี (2550 : 88) ได้ศึกษาการพัฒนาสาระการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ผลการศึกษาพบว่า การสร้างสาระการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริงในห้องเรียน สร้างพื้นฐานคุณลักษณะ 3 ด้าน คือ การบริโภคด้วยปัญญา ด้านการพึ่งพาตนเอง และด้านการประหยัด จากงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปศึกษาในเรื่องใดก็ตาม ต่างเกิดความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นในทุก ๆ เรื่องแต่จากการศึกษาค้นคว้ายังไม่พบว่ามีงานวิจัยใดที่ศึกษาพัฒนาการเด็กที่เกิดจากการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐาน จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาพัฒนาการทางสังคมของเด็กปฐมวัย ที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการน้อมรับเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มาเป็นแนวทางในการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นเยาวชนที่ดีของสังคม รวมทั้งเป็นประชากรที่ดีของประเทศ ในอันที่จะช่วยกันพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป
ความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า
เพื่อศึกษาพัฒนาการด้านสังคมของเด็กปฐมวัย ที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า
การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเพื่อมุ่งเน้นให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการทางสังคม โดยการจัดกิจกรรมที่หลากหลายโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะช่วยให้ครูผู้สอนและผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย ได้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อการพัฒนาทางสังคมของเด็กปฐมวัยและกิจกรรมต่าง ๆ ที่ตั้งบนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเลือกใช้เป็นแนวทาง ในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กต่อไป
ขอบเขตของการศึกษา
1. ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เป็นเด็กปฐมวัย ชาย-หญิง อายุระหว่าง 3 - 4 ปี ที่กำลังศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 ของโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน 5ห้อง
2. กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชาย-หญิงอายุระหว่าง 3 - 4 ปี
ชั้นอนุบาลที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 ของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจง (purposive sampling) โดยสุ่มเด็ก ห้องเรียน 1 ห้องเรียน ให้เป็นกลุ่มตัวอย่าง
3. ระยะเวลาในการทดลอง
ในการทดลองครั้งนี้ผู้วิจัยได้ทำการทดลองในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 ระยะเวลาในการทดลอง 7 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที รวมทั้งสิ้น 20 ครั้ง
4. นิยามศัพท์เฉพาะ
1. เด็กปฐมวัย หมายถึง เด็กชาย-หญิง อายุระหว่าง 3 - 4 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ใน
ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 ของโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
2. หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติในทางที่ควรจะเป็น มีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลางและการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน ประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ และ 2 เงื่อนไขดังนี้
2.1 ความพอประมาณ
2.2 ความมีเหตุผล
2.3 การมีภูมิคุ้มกันที่ดี หมายถึง เตรียมตัวให้พร้อมกับสถานการณ์ที่แปลงในอนาคต
และ 2 เงื่อนไข ดังนี้
2.4 เงื่อนไขความรู้
2.5 เงื่อนไขคุณธรรม
3. พัฒนาการทางสังคม หมายถึง พัฒนาการทางสังคมเป็นการพัฒนาความสามารถในการแสดงพฤติกรรมของบุคคล เพื่อเรียนรู้และปรับตัวให้สอดคล้องกับแบบแผนที่สังคมยอมรับ ให้ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ในการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาได้คัดเลือกมา 3 ด้าน
ได้แก่
3.1 การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของตนเอง
3.2 การเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน
3.3 การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า
ซึ่งจากการศึกษา พัฒนาการด้านสังคมของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถวัดได้จากแบบสังเกตที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
4. กิจกรรมเสริมประสบการณ์ หมายถึง กิจกรรมที่อยู่ในวงกลมที่เป็นกลุ่มย่อยหรือกลุ่มใหญ่ เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เด็กได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ ฝึกการทำงาน การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม กิจกรรมนี้มุ่งฝึกประสบการณ์พูด ฟัง สังเกต คิด แก้ปัญหา ใช้เหตุผลและฝึกปฏิบัติเพื่อให้เด็กเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น สนทนา อภิปราย สาธิต ทดลอง เล่านิทาน เล่นบทบาทสมมติ ร้องเพลง ท่องคำคล้องจอง การศึกษานอกสถานที่ เป็นต้น
5. กิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง การจัดกิจกรรมด้วยรูปแบบที่หลากหลายโดยบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพัฒนาการเด็ก ผ่านการจัดกิจกรรม การสนทนา ร้องเพลง เล่านิทาน การศึกษานอกสถานที่ ท่องคำคล้องจอง บทบาทสมมติ เล่นเกม ฯลฯ เพื่อมุ่งเน้นให้เด็กได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ ฝึกการทำงาน การอยู่ร่วมกันเป็น
กรอบแนวคิดในการศึกษาค้นคว้า
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3 คุณลักษณะ ได้แก่
1. ความพอประมาณ
2. ความมีเหตุผล
3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดี
2 เงื่อนไข ได้แก่
1. เงื่อนไขความรู้
2. เงื่อนไขคุณธรรม
พัฒนาการ ด้านสังคม
2.1 การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของตนเอง
2.2 การเล่นร่วมและทำงานร่วมกับ
ผู้อื่น
2.3 การช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น
2.4 การเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน
กิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง
1. การสนทนา/การเล่านิทาน
2. การศึกษานอกสถานที่
3. บทบาทสมมติ
4. การร้องเพลง/ฟังเพลง ท่องคำคล้องจอง
5. เล่นเกม
การสะท้อนความคิด
1. พฤติกรรมทั่วไป
2. บันทึก คำพูด
3. ผลงาน
สมมติฐานในการศึกษาค้นคว้า
พัฒนาการด้านสังคมของเด็กปฐมวัย อายุ 3 ขวบ ที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีพัฒนาการด้านสังคมสูงขึ้น
บทที่ 2
เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยแยกตามหัวข้อดังนี้
1. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางสังคมของเด็กปฐมวัย
1.1 ความหมายและความสำคัญของพัฒนาการทางสังคม
1.2 ทฤษฎีพัฒนาการทางสังคม
1.3 ความหมายของพฤติกรรมทางสังคมและความสำคัญของพฤติกรรมทางสังคม
1.4 งานวิจัยที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางสังคม
2. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเสริมประสบการณ์
2.1 ความหมายของกิจกรรมเสริมประสบการณ์
2.2 ความสำคัญของกิจกรรมเสริมประสบการณ์
2.3 รูปแบบและเทคนิคของการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์
2.4 งานวิจัยที่เกี่ยวกับกิจกรรมเสริมประสบการณ์
3. เอกสารที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทฤษฎีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3.1 ความหมายและความสำคัญของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3.2 หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3.3 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
1. เอกสารและงานวิจัยทื่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสังคม
1.1 ความหมายของพัฒนาการทางสังคม
จากการศึกษาได้มีผู้ให้ความหมายของพัฒนาการทางสังคมไว้หลายทัศนะ
กล่าวคือ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2528 : 220) ได้กล่าวว่า พัฒนาการทางสังคม หมายถึง การพัฒนาความสามารถในการแสดงออกของมนุษย์ให้สอดคล้องกับแบบแผนและเป็นที่ยอมรับของสังคม เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
วิณี ชิดเชิดวงศ์ (2537 : 167) ได้ให้ความหมายของพัฒนาการทางสังคมไว้ว่า พัฒนาการทางสังคม หมายถึง ความสามารถในการที่จะปรับตัวให้กับสังคมที่ตนเองอยู่ได้เป็นอย่างดี สามารถปรับตัวให้เข้าสิ่งแวดล้อมรอบตัวเองได้ เป็นพฤติกรรมที่เด็กสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น ลักษณะพฤติกรรมทางสังคมของบุคคลแต่ละมีรากฐานมาจากวัยทารกและวัยตอนต้น
นภเนตร ธรรมบวร (2540 : 97) ได้ให้ความหมายไว้ว่า พัฒนาการทางสังคม หมายถึง การเรียนรู้ทักษะในการปฏิสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อน รวมตลอดถึงความสามารถในการตอบสนองทางสังคมต่าง ๆ นอกจากนั้นยังถึงความสามารถในการเข้าในสถานการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่น การแก้ปัญหาต่าง ๆ และบทบาทสังคม
สิริมา ภิญโญอนันตพงษ์ (2545 : 101) ได้ให้ความหมายของพัฒนาการทางสังคมไว้ว่า พัฒนาการทางสังคม หมายถึง พัฒนาการเรียนรู้ทางสังคมจากรู้สึกผูกพันใกล้ชิดภายในครอบครัวที่พึ่งพาตนเอง และการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น
กุลยา ตันติผลาชีวะ (2546 : 127) ได้กล่าวว่า พัฒนาการทางสังคมเป็นพัฒนาการของความสามารถแสดงพฤติกรรมต่อบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับแบบแผนที่สังคมยอมรับได้ พฤติกรรมแสดงออกจะบอกจะบ่งบอกให้เห็นถึงเจตคติและค่านิยมเฉพาะตนของบุคคลนั้น
ดังนั้น พัฒนาการทางสังคมเป็นการพัฒนาความสามารถในการแสดงพฤติกรรมของบุคคล เพื่อเรียนรู้และปรับตัวให้สอดคล้องกับแบบแผนที่สังคมยอมรับ ให้ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
1.2 ทฤษฎีพัฒนาการทางสังคม
อีริคสัน (Erikson) กล่าวว่า บุคลิกภาพของมนุษย์จะพัฒนาได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์แต่ละช่วงอายุ ถ้าเด็กได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ จะมีบุคลิกภาพและพร้อมที่จะพัฒนาขั้นต่อไป อย่างมีประสิทธิภาพ อิริคสันได้แบ่งระยะพัฒนาทางสังคมไว้ 8 ระยะ ในช่วงประถมวัยมี 3 ระยะดังนี้
1. ระยะความรู้สึกเชื่อมั่น (The Sense of Trust) อายุของระยะนี้อยู่ระหว่างหลังคลอดจนถึงอายุ 1 ปี ระยะนี้ถ้าเด็กมีความสบายและได้รับความรักความอบอุ่นจากแม่ในยามที่เขาต้องการ เด็กจะมีการปรับตัวที่ดี สามารถพัฒนาความรู้สึกไว้วางใจขึ้นได้ และในทางตรงข้าม ถ้าเด็กขาดความสุขทางกาย ขาดความรักอบอุ่น ก็จะเป็นผู้ที่ไม่สามารถควบคุม อารมณ์ตนเอง มีความกลัวและขาดความไว้วางใจผู้อื่น
2. ระยะต้องการทำหรือค้นหาด้วยตนเอง (The Sense of Autonomy) อายุของเด็กระยะนี้อยู่ระหว่าง 1 – 3 ปี เป็นระยะที่เด็กเริ่มฝึกการขับถ่าย ถ้าเด็กปฎิบัติได้ดีก็จะสามารถผ่านขั้นนี้ไปได้ด้วยดี เด็กจะเรียนรู้ในการรักษาความตั้งใจของตนเองและทำความตั้งใจให้เป็นจริง
3. ระยะการคิดริเริ่ม (The Sense of Initiative) อายุของเด็กระยะนี้อยู่ระหว่าง 3 – 6 ปี เด็กจะพยายามสร้างเอกลักษณ์ของตนเอง และสามารถแสดงความรู้สึกและพฤติกรรมที่เหมาะสมในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ เด็กสามารถพัฒนาความร่วมมือและการเป็นผู้นำผู้ตามที่ดีได้ระยะนี้หากเด็กเกิดความกลัว เด็กจะยึดผู้ใหญ่เป็นที่พึ่งตลอดเวลา ทำให้ความคิดจินตนาการและการพัฒนาทักษะทางสังคมถูกจำกัดไปด้วย
ฮาวิกเฮอร์ส (Havighurt’s) ได้รับอิทธิพลแนวความคิดจากอิริคสัน (Erikson) เกี่ยวกับลักษณะของการพัฒนาแต่ละช่วงวัยของชีวิตนั้นถ้าสิ่งที่เด็กทำในชีวิตประจำวันได้ในสิ่งที่เด็กทำในช่วงนั้น ๆ เด็กจะรู้สึกว่าตนเองประสบความสำเร็จ แต่ถ้าบุคคลใดไม่ประสบความสำเร็จในงานนั้น จะมีผลต่อการปรับตัว ฮาวิกเฮอร์สได้เสนองานตามขั้นพัฒนาการทางสังคมในเด็กปฐมวัย คือ
1. เด็กสามารถมีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับความจริง สังคมและกายภาพ ซึ่งหมายถึง การที่เด็กมีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น พ่อ แม่ โรงเรียน ครู และสิ่งต่าง ๆ ที่เด็กต้องเกี่ยวข้องด้วย
2. เด็กสามารถที่จะเรียนรู้ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับพี่น้องและเพื่อนรวมท้งชอบเลียนแบบบุคคลอื่น
3. เด็กสามารถที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิดและเริ่มมีพัฒนาการทางจริยธรรม (พรรณี ชูทัย เจนจิต. 2537 : 77-78)
ซัลลิแวน (Sullivan) ได้แบ่งขั้นตอนพัฒนาการออกเป็น 6 ขั้น แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยเท่านั้น ซึ่ง ซัลลิแวน ได้กล่าวว่า เด็กปฐมวัยเป็นระยะที่เด็กได้พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว และทักษะทางภาษา ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้อย่างอิสระกว้างขวางมากขึ้น เด็กเรียนรู้ทิศทางของวัฒนธรรมที่เขามีส่วนร่วมอยู่ เมื่อเขามีวุฒิภาวะพอที่จะใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสาร เขาก็จะเรียนรู้วิธีการที่จะปฏิบัติกับบุคคลอื่น เพื่อที่จะทำให้ตนเองรู้สึกมั่นคงปลอดภัย เด็กเริ่มรู้สึกถึงสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกกังวลและสามารถขจัดความวิตกกังวลนั้นได้ (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2536 : 11 ; อ้างอิงมาจาก Sunlivan. 1966)
จากทฤษฎีที่กล่าวมาข้างต้น สรุปได้ว่า เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการทางสังคมที่ดีและมีบุคลิกภาพด้านความประพฤติ ความรู้สึกที่แสดงออกในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อย่างเหมาะสม รู้จักสร้างความร่วมมือและเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดีได้ เด็กจะพยายามสร้างเอกลักษณ์ของตนเอง และรู้ว่าตนเองต่างจากบุคคลอื่น จากการที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมการเลียนแบบและการเรียนรู้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับพ่อแม่ พี่น้องและบุคคลอื่น ๆ ดังนั้นการส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมของเด็กปฐมวัยต้องสอดคล้องกับขั้นพัฒนาการตามวัยของเด็ก สำหรับเด็กวัย 5- 6 ขวบ แล้วสามารถส่งเสริมให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูด้วยกิจกรรมที่ทำให้เด็กเกิดการร่วมมือกันในรูปแบบที่เหมาะสม เช่น กิจกรรมที่ฝึกให้เด็กคิดร่วมกัน ลงมือทำร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะทำให้เกิดพัฒนาการทางสังคมที่ดี และสามารถส่งเสริมในขั้นต่อไป ทำให้เด็กสามารถพัฒนาและแสดงออกต่อผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม นำมาสู่การปรับตัวเข้าสู่สังคมอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
1.3 ความหมายของพฤติกรรมทางสังคมและความสำคัญของพฤติกรรมทางสังคม
1.3.1 ความหมายพฤติกรรมทางสังคม จากการศึกษาพบว่า ได้มีผู้ให้ความหมายของพฤติกรรมทางสังคมไว้หลายท่าน ดังต่อไปนี้
เพียเจต์ (Piaget) ได้กล่าวถึงพัฒนาการเด็กในระยะปฐมวัยไว้ว่า ปฐมวัยเป็นวัยที่เด็กจะเรียนรู้พฤติกรรมทางสังคม แต่ยังไม่เข้าใจว่า ความดี ความไม่ดีเป็นอย่างไร จึงยึดถือความพึงพอใจของตนเองเป็นใหญ่ (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2528 : 8)
กู๊ด (Good. 1965 : 314) ได้ให้ความหมายพฤติกรรมทางสังคมไว้ว่า เป็นการแสดงออกที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมหรือเป็นการแสดงออกของกลุ่มบุคคล
อิงลิช (English. 1985 : 508) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกเนื่องจากพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลอื่นหรือพฤติกรรมที่แสดงออกโดยการได้รับการควบคุมจากองค์กรทางสังคมที่มีรูปแบบแล้ว เช่น ครอบครัว เป็นต้น
เพจ (Page. 1997 : 314) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกเนื่องจากพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลอื่น โดยได้รับการควบคุมจากองค์กรทางสังคม หรือเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกเพื่อพยายามที่จะมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น
อาจสรุปได้ว่า พฤติกรรมทางสังคมหมายถึง พฤติกรรมการแสดงออกของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในสังคม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกลุ่มบุคคลหรือองค์กรทางสังคม เด็กปฐมวัย 5-6 ปี สามารถแสดงออกในด้านต่าง ๆ โดยครูจัดกิจกรรมให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กัน เด็กได้ร่วมกิจกรรมได้ปรับตัวเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อน
1.3.2 ลักษณะพฤติกรรมทางสังคม
1. การยอมรับผู้อื่น
การยอมรับจากสังคมของเด็กก่อนวัยเรียนต้องการการยอมรับจากเพื่อนที่ใกล้ชิดมากกว่าผู้ใหญ่ และสุภัค ไหวหากิจ (2543 : 20) ได้กล่าวถึง การยอมรับเด็กทุกคนต้องการการเป็นสมาชิกของกลุ่มและเป็นที่ยอมรับของเพื่อนในการเล่น ถ้าเด็กได้รับการยอมรับจะทำให้เด็กได้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าต่อเพื่อน เด็กจะยินดีให้ความช่วยเหลือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนั้นยังทำให้เด็กมีความสุข แต่ในทางตรงกันข้ามเด็กที่ถูกเพื่อนต่อต้านปฏิเสธ จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองด้อยคุณค่า หมดความภาคภูมิใจในตนเอง
2. การช่วยเหลือ
การช่วยเหลือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของพฤติกรรมทางสังคม ซึ่งแนนซี่และไมเคิล (Nancy and Michael. 1979 : 365- 363 ; อ้างอิงจาก วีระพงศ์ บุญประจักษ์. 2545 : 13) ได้กล่าวถึงการช่วยเหลือว่า เป็นการพยายามที่จะช่วยบรรเทาความต้องการที่ไม่ใช่ทางอารมณ์แก่ผู้อื่น เช่น การช่วยเหลือให้ข้อมูล ช่วยเหลือผู้อื่นทำงานหรือเสนอสิ่งของที่ตนเองไม่เคยเป็นเจ้าของมาก่อนและ บี (Bee. 1985 : 396 – 401) ได้กล่าวถึงพฤติกรรมการช่วยเหลือเพื่อนของเด็กปฐมวัยว่า เป็นการแสดงปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเชิงบวก ซึ่งอายุ 2-3 ปี จะมีชนิดของการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกด้วยการให้ เช่น เด็กเสนอให้ความช่วยเหลือหรือให้ของเลานหรือพยายามปลอบใจคนที่ได้รับบาดเจ็บ เด็กจะทำตามคำขอร้อง หรือคำแนะนำของเพื่อนมากกว่าคนที่มาใช่เพื่อน เด็กบางคนจะแสดงพฤติกรรมการช่วยเหลือมากกว่าเด็กอื่น ซึ่งเป็นผลมาจาก ประสบการณ์ในการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลทั้งในครอบครัวและบุคคลอื่น ๆ รวมทั้งเพื่อน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการช่วยเหลือเป็นการพยายามที่จะบรรเทาความต้องการโดยการใช้คำพูดหรือการแสดงความปลอบใจหรือช่วยเหลือเพื่อนในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
3. การแบ่งปัน
ครอกและลามม์ (ปัทมา ศุภกำเนิด. 2545 : 13 ; อ้างอิงจาก Krogh and Lamme. 1983. Children Education. : 183 –192 ) ได้กล่าวถึงทฤษฎีของดามอนและแซลแมนไว้ว่า การนแบ่งปันและการให้ของเด็กอายุ 4- 6 ปี จะยึดตนเองเป็นศูนย์กลางและยึดเป็นรูปธรรม เด็กจะมีความรักและหวงแหนสิ่งของที่เป็นของกิน ของใช้ ของเล่น และมักชอบสิ่งของอย่างเดียวกัน ดังนั้น สิ่งของที่เด็กจะแบ่งปันให้เพื่อนจึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ และศุภกุล เกียรติสุนทร (2532 : 62 ) ได้กล่าวถึงข้อสังเกตจากการวิจัยว่า เด็กมักจะแสดงพฤติกรรมการแบ่งปันและให้ของกินของใช้ ส่วนใหญ่เด็กไม่ค่อยจะแบ่งให้เพื่อน แต่อย่างไรก็ตาม เด็กที่ไม่ค่อยแสดงพฤติกรรมการแบ่งปันหรือให้ ก็แสดงพฤติกรรมแบบอื่น เช่น การช่วยเหลือ การปลอบโยน
1.3.3 ลักษณะความต้องการทางสังคมของเด็กปฐมวัย
พรรณี ชูทัย เจนจิต (2537 : 157 –158) ได้กล่าวว่า เด็กในช่วงอายุนี้ เรียนรู้ที่จะติดต่อสมาคมกับคนอื่น ๆ นอกบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนวัยเดียวกันและเด็กเริ่มเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ ลักษณะความต้องการทางสังคมของเด็กปฐมวัยมีดังนี้
1. เด็กเริ่มมีความต้องการที่จะสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนในวัยเดียวกัน และมีเพื่อนเพียง 1 – 2 คน และเป็นเพศเดียวกัน แต่ถึงอย่างไรเด็กมักมีสังคมไม่แน่นอน สามารถเล่นกับเพื่อนส่วนใหญ่ในชั้นด้วยความเต็มใจ
2. มีความต้องการที่จะเล่นกับเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ และเปลี่ยนกลุ่มบ่อย ๆ การเล่นเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างเล่น แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มเดียวกันก็ตาม
3. มีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อย ๆ แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เด็กมักจะลืมง่าย
4. เด็กมีความต้องการที่จะแสดงออกและจะสนุกสนานกับการเล่นละคร ซึ่งเขาอาจแต่งขึ้นเอง หรือเลียนแบบรายการโทรทัศน์
5. เด็กชายและเด็กหญิง มีความสนใจคล้ายกัน และยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาททางเพศ
6. เด็กต้องการเป็นที่ยอมรับของผู้ใหญ่และกลุ่มเพื่อน ต่างจากวัยทารกซึ่งกลัวคนแปลกหน้า
สรุปว่า เด็กมีความต้องการเล่นกับเพื่อน ต้องการแสดงออก โดยการเล่นละครที่แต่งขึ้นเองหรือเลียนแบบและต้องการเป็นที่ยอมรับของผู้ใหญ่ ซึ่งการเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นละคร โดยมีครูเป็นผู้กระตุ้นชักนำ โดยการจัดประสบการณ์และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม จะเป็นการเอื้อต่อการพัฒนาทุกด้านอย่างเป็นระบบ รวมทั้งพฤติกรรมด้านสังคม อันจะนำมาสู่การแสดงพฤติกรรมอย่างเหมาะสม
1.3.4 แนวทางส่งเสริมพฤติกรรมทางสังคม
การส่งเสริมพฤติกรรมทางสังคมให้กับเด็กเป็นการพัฒนาพฤติกรรมใหม่ให้เกิดกับเด็กอาจทำได้ดังนี้
1. การปรับพฤติกรรมของเด็ก ต้องให้เด็กค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมทีละน้อยด้วยการเสริมแรง เช่น ให้การเสริมแรงเวลาที่เด็กแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม หรือเมื่อเด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ
2. การพัฒนาพฤติกรรมโดยให้แบบที่ดี การให้เด็กเห็นตัวอย่างที่ดี จะช่วยให้เด็กเลียนแบบตาม เด็กมักจะชอบเลียนแบบคนที่เด็กชื่นชม เช่น พ่อแม่ ครู ญาติ พี่น้อง เพื่อน นักกีฬา ตัวละครในนิทานและผู้ที่มีชื่อเสียง
3. การให้สัญญาณเตือนพฤติกรรม โดยการแสดงออกด้วยวาจาหรือท่าทางว่าเด็กควรทำหรือไม่ด้วยคำพูดหรือการพยักหน้า เป็นการให้สัญญาณเตือนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก่อนที่เด็กจะทำอะไรลงไป จะดีกว่าการติเตียนเมื่อเด็กทำอะไรผิดลงไปแล้ว (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช. 2544 : 31 –35)
ประมวล ดิกคินสัน (2527 : 107) กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมพฤติกรรมทางสังคมสำหรับเด็กปฐมวัยไว้ดังนี้
1. การกำหนดตารางกิจกรรมประจำวันอย่างเหมาะสมและต่อเนื่องกัน จัดกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงาน และกิจกรรมที่ผ่อนคลายสลับกัน ทำให้เด็กไม่เบื่อหน่ายมีบรรยากาศการเรียนที่ดี การที่เด็กรู้ตารางกิจกรรมประจำวันและสิ่งที่ครูคาดหวังให้เด็กทำจะทำให้เกิดความเป็นระเบียบและมีความรู้สึกมั่นใจ การเสริมแรงทันทีที่เด็กแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมที่สังคมยอมรับ
2. การเสริมแรงพฤติกรรมทางสังคมแก่เด็กปฐมวัย ควรพูดให้ชัดเจนว่า เด็กได้แสดงพฤติกรรมที่ดีอย่างไร เช่น “ เธอใจดีจังที่ช่วยมานะเช็ดสีที่หกบนพื้น” การชมเชยของครูมีคุณค่าสำรับเด็กส่วนใหญ่ เพราะเป็นตัวอย่างที่ดี เด็กมักจะเอาอย่าง ในบางครั้งอาจใช้ท่าทางแทนการเสริมแรงด้วยวาจาตามความเหมาะสม
3. การให้รางวัล การส่งเสริมความร่วมมือและการช่วยเหลือกันนับว่าเป็นพฤติกรรมทางสังคมที่ควรส่งเสริม ตัวอย่างเช่น “ ถ้าแต่ละกลุ่มช่วยกันดูแลห้องให้เรียนร้อยภายใน 5 นาที ครูจะเล่านิทานสนุก ๆ ให้ฟัง 1 เรื่อง “ การเสริมแรงที่กล่าวมาเป็นการเสริมแรงจากภายนอกหรือจากผู้อื่น เป็นการกระตุ้นให้เด็กช่วยกันทำงานจนสำเร็จตามเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาด้านสังคม เพื่อมุ่งให้เด็กทำในสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยตัวเอง เกิดความพอใจและภูมิใจในผลงานที่เด็กทำได้ ซึ่งเป็นการเสริมแรงจากภายในตัวเด็กเอง
4. การเสริมความเป็นอิสระ พัฒนาการทางสังคมที่เห็นเด่นชัดในโรงเรียนคือการที่เด็กสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองและรับผิชอบสิ่งที่ตนทำ ครูควรให้การเสริมแรงในพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกอย่างเหมาะสม ครูไม่ควรใช้คำพูดที่คุกคามหรือข่มขู่ แต่ควรบอกกล่าวให้ทุกคนทราบเงื่อนไข เช่น “ ใครที่โต๊ะเรียบร้อยแล้ว แสดงว่าพร้อมที่จะรับประทานอาหารกลางวัน” หรือ “ ใครที่ทำผนังเลอะคนนั้นต้องทำความสะอาด”
5. ส่งเสริมให้เด็กรู้และสนใจความรู้สึกของผู้อื่น การส่งเสริมให้เด็กมีพฤติกรรมการช่วยเหลือ นับว่ามีความเหมาะสม เพราะช่วยให้เด็กเอาใจใส่ในความต้องการของผู้อื่น รับรู้ความรู้สึกของผู้อื่น โดยครูชมเชย ชวนให้เด็กสนใจการกระทำที่แสดงถึงความมีน้ำใจหรือแนะนำให้เด็กแบ่งปัน ร่วมมือและให้ความช่วยเหลือผู้อื่น
จากแนวทางการส่งเสริมพฤติกรรมดังกล่าว การส่งเสริมพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสมมีหลายวิธีการ วิธีการปฏิสัมพันธ์ของครูกับเด็ก เช่น การเสริมแรง การชมเชย วิธีจัดกิจกรรมให้เด็กมีความรับผิดชอบ ร่วมมือ แบ่งปัน ช่วยเหลือ โดยส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม วิธีการเหล่านี้จะส่งเสริมให้เด็กมีพฤติกรรมการแสดงออกในด้านการรับรู้ความต้องการของผู้อื่น การแก้ปัญหา การร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น ซึ่งจะเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของสังคมที่ควรส่งเสริมให้เกิดกับเด็กปฐมวัย
1.4 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางสังคม
งานวิจัยต่างประเทศ
ฮาโลว์ ( Halow. 1932 : 174) ทำการทดลองพบว่า การมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างเด็กกับเพื่อนในวัยเด็กตอนต้น จะมีผลต่อพฤติกรรมทางสังคมเมื่อเด็ก เมื่อเด็กโตขึ้น (Goslin. 1962 : 283-296) พบว่าเด็กเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อนจะมีลักษณะคล่องแคล่ว ว่องไว สนใจต่อสิ่งรอบตัว ร่าเริง เข้ากับคนง่าย เชื่อมั่นในตนเอง ไวต่อความรู้สึกและสนใจผู้อื่น
ซาโลเม (Salome. 1979 : 1349) ได้วิจัยถึงความแตกต่างของปฏิสัมพันธ์ของเด็กปฐมวัยระหว่างเด็กหญิงกับเด็กชายในแง่ของ 1. วิธีการที่ใช้ในการเข้ากลุ่ม 2. วิธีที่ใช้ในการรวมกับเด็กอื่นเป็นกลุ่มและ 3. การมีส่วนร่วมเล่นในกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 4 – 5 ปี จำนวน 30 คน เป็นชายและหญิงเท่ากัน จากการสังเกตพฤติกรรมในขณะที่เด็กเล่นกับกลุ่มเพื่อนครั้งละ 10 นาที โดยสังเกตเด็กทีละคนรวมเวลาที่สังเกตคนละ 70 นาที ตลอดเวลา 5 สัปดาห์ ขณะสังเกตจะบันทึกเสียงแล้วนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมผลการวิจัยพบว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างเด็กชายกับเด็กหญิงในด้านต่อไปนี้
1. วิธีการที่ใช้ในการเข้ากลุ่ม
2. วิธีการรวมเด็กอื่นเป็นกลุ่ม
3. การมีส่วนร่วมเล่นในกลุ่ม
แมรี (Mary. 1981 : 4603)ได้ศึกษาปฏิสัมพันธ์ของเด็กที่มีความสามารถในการเข้ากลุ่มเพื่อนในแง่ของความถี่ของพฤติกรรมและระยะเลาของการปฏิสัมพันธ์และวิธีการเข้ากลุ่มเพื่อนรวมทั้งความรู้สึกและการเข้ากลุ่มไม่ได้ กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 4 ปี จำนวน 40 คน เป็นชาย 20 คน และหญิง 20 คน วิธีการศึกษาใช้เทคนิคสังคมมิติบันทึกพฤติกรรมขณะเล่นด้วยวีดีโอเทปคนละ 1 นาที แล้วนำมาตีความจากนั้นนำมาจัดเป็นประเภทพฤติกรรมผลการวิจัยปรากฏว่า เด็กที่มีความสามารถในการเข้ากลุ่มเพื่อนมากมีปฏิสัมพันธ์มากกว่าและใช้เวลาในการปฏิสัมพันธ์ยาวนานกว่าเด็กที่มีความสามารถในการเข้ากลุ่มเพื่อนน้อย เด็กที่มีความสามารถในการเข้ากลุ่มเพื่อนจะใช้พฤติกรรมปฏิสัมพันธ์หลายวิธีและวิธีการที่เข้ากลุ่มแล้วไม่ได้ผลน้อยกว่าเด็กที่มีความสามารถน้อยกว่าและใช้พฤติกรรมทางบวกมากกว่า ส่วนเด็กที่มีความสามารถน้อยกว่าจะใช้วิธีการทางลบมากกว่า ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของวิธีการที่ใช้ในการเข้ากลุ่มเพื่อนในแง่ของวิธีการลบกับวิธีที่ไม่ได้ผล
บลาล็อค (Blalock. 1984 : 172) ได้ศึกษาการสังเกตเด็กอนุบาล 2 ห้อง นักเรียนจำนวน 36 คนในขณะที่เด็กกำลังเล่นอย่างอิสระและใส่รหัสพฤติกรรมเด็ก (Child Behavior code) ครูผู้สอนเป็นผู้ตอบแบบสอบถามและทำนายสถานภาพเด็กแต่ละคน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงสหสัมพันธ์ทางบวกอย่างมีนัยสำคัญระหว่างคะแนนการยอมรับทางสังคมมิติ (Socia Metic) ของเด็กกับการทำนายการยอมรับเพื่อนที่ถูกทำนาย และเด็กที่มีผลกระทบทางสังคมมิติ(Socia Metic) สูง ตอบคำถามปลายเปิดน้อยและแสดงความรัก ความรู้สึกทางคำพูดกับเพื่อนน้อย
งานวิจัยในประเทศ
อรวรรณ สุ่มประดิษฐ์ (2533 : 77) ได้ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมความเอื้อเฟื้อความมีระเบียบวินัย และระดับขั้นการเล่นทางสังคมสูงของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นแบบและการเล่นที่จัดอยู่ทั่วไป โดยศึกษากับเด็กอายุ 5 – 6 ปี จำนวน 30 คน โดยใช้แบบสังเกตพฤติกรรมด้านความเอื้อเฟื้อ และแบบบันทึกระดับการเล่นทางสังคม ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ 1. ระดับเล่นคนเดียว 2. ระดับมองดูคนอื่นเล่น 3. ระดับเล่นคู่ขนาน 4. ระดับเล่นรวมกับเพื่อน 5. ระดับเล่นร่วมกับเพื่อนอย่างมีจุดหมาย ผลการศึกษาพบว่าเด็กปฐมวัยที่ได้รับการเล่นแบบทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญแตกต่างจากเด็กปฐมวัยที่ได้รับการเล่นแบบทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ณัฏฐาพร พงษ์สิงห์ (2539 : บทคัดย่อ) ศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมชอบสังคมของเด็กปฐมวัยที่ได้รับประสบการณ์การเล่นบล็อกแจ้งอย่างอิสระ กลุ่มตัวอย่างมีแบบแผนกับเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นบล็อกกลางแจ้งอย่างอิสระ กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอนุบาล 2 อายุ 5 – 6 ปี จำนวน 30 คน โดยกลุ่มทดลองจะได้รับประสบการณ์การเล่นบล็อกอย่างอิสระ ผลการศึกษา พบว่า พฤติกรรมชอบสังคมของเด็กปฐมวัยที่ได้รับประสบการณ์การเล่นบล็อกกลางแจ้งอิสระแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
ศิริรัตน์ ชูชีพ (2544 : 37) ศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมชอบสังคมของเด็กปฐมวัยก่อนจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ และหลังจากจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ในสัปดาห์ที่ 1 หลังจากจัดประสบการณ์เคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ใน 1 สัปดาห์ เด็กปฐมวัยมีพฤติกรรมชอบสังคมเพิ่มขึ้นจากก่อนจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
2. เอกสารและงานวิจัยทื่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเสริมประสบการณ์
2.1 ความหมายของกิจกรรมเสริมประสบการณ์
กิจกรรมเสริมประสบการณ์ หมายถึงกิจกรรมที่เด็กส่วนใหญ่มาร่วมกันเพื่อทำกิจกรรมเดียวกัน (สำนักคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. 2535 : 47) ดังนั้นในการจัดกิจกรรมให้กับเด็กต้องคำนึงถึงช่วงความสนใจของเด็กด้วย การจัดที่นั่งในการเรียนการสอนได้เหมาะสมจะช่วยให้เด็กมีความสนใจดีขึ้น การจัดเก้าอี้ในลักษณะรูปวงกลม ในขณะที่ครูให้เนื้อหานั้นจะเป็นการช่วยให้เด็กได้นั่งใกล้ชิด และครูสามารถจัดกิจกรรมที่เป็นการเปลี่ยนอิริยาบทของเด็กได้ง่ายอีกด้วย ทำให้เด็กสนใจในการเรียนขึ้นมาก การจัดเป็นวงกลมนี้อาจจัดให้นั่งบนเก้าอี้ หรือนั่งบนพื้นที่สะอาดได้ แต่ถ้าเด็กนั่งกับพื้นครูควรนั่งกับพื้น และถ้าเด็กนั่งบนเก้าอี้ครูก็ต้องนั่งบนเก้าอี้เพื่อให้เด็กเห็นครู และสื่อที่ใช้สอนอยู่ในระดับสายตาของเด็ก นอกจากนี้การจัดกิจกรรมโดยนั่งล้อมวงเป็นวงกลมยังช่วยให้ทุกคนมองเห็นกันอย่างทั่วถึงด้วย (สำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2533 : 22)
กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่มุ่งเน้นให้เด็กให้เด็กได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ ฝึกการทำงานและการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ทั้งกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ กิจกรรมที่จัดมุ่งฝึกให้เด็กได้มีโอกาส ฟัง พูด สังเกต คิด แก้ปัญหา ใช้เหตุผลและฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน โดยจัดกิจกรรมด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น สนทนา อภิปราย สาธิต ทดลอง เล่านิทาน เล่นบทบาทสมมติ ร้องเพลง ท่องคำคล้องจอง ศึกษานอกสถานที่ เชิญวิทยากรมาให้ความรู้ (กรมวิชาการ. 2540 : 36)
จากความหมายดังกล่าวมาข้างต้น สรุปว่ากิจกรรมเสริมประสบการณ์เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้เด็กเข้าใจเนื้อหาและเรื่องราวในแผนการจัดประสบการณ์และให้เด็กมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับครู โดยครูจะได้ดูพฤติกรรมของเด็กอย่างใกล้ชิดทั่วถึง
2.2 ความสำคัญของกิจกรรมเสริมประสบการณ์
การจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ มีความสำคัญต่อเด็กปฐมวัยมากเพราะเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กได้เข้าใจเนื้อหา กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้เด็กทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน กิจกรรมเสริมประสบการณ์ ช่วยให้เด็กได้มีความคิดรวบยอดที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการพัฒนาทักษะทางสติปัญญาให้เด็กมีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเนื้อหน่วยการสอน ตลอดจนส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมฝึกการกล้าแสดงออก นอกจากนั้นยังช่วยเด็กให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับครู (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. 2535 : 47)
ในการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์นี้มีการนำเอาเนื้อหาและรายการประสบการณ์จากแนวการจัดประสบการณ์มาบูรณาการการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของการส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านทั้ง 4 ด้าน โดยยึดลำดับขั้นตอนการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก เช่น พืชผัก ผลไม้ สัตว์ ตลอดจนคำนึงถึงเทศกาล วันสำคัญ ฤดูกาล ซึ่งการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์นี้เป็นแกนในการจัดหน่วยการเรียนการสอน (สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. 2529 : 22)
จากความหมายดังกล่าวสรุปได้ว่าความสำคัญของกิจกรรมเสริมประสบการณ์ คือ การเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนการคิด ได้แสดงออกอย่างอิสระร่วมกับเพื่อนและสื่อต่าง ๆ และสามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับจากประสบการณ์มาใช้ในการแก้ปัญหาของตนได้จากการเล่นโดยให้เด็กเป็นผู้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
2.3 รูปแบบและเทคนิคของการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2533 : 4) ได้กล่าวว่า การจัดประสบการณ์และกิจกรรมให้กับเด็กในกิจกรรมในวงกลมนี้จะนำเนื้อหาและประสบการณ์มาบูรณาการกิจกรรมการเรียนการสอนซึ่ง วันทนีย์ เหมาะผดุงกุล (2539 : 22) กล่าวว่า การจัดประสบการณ์แบบบูรณาการหมายถึง การจัดประสบการณ์ในเนื้อหาวิชาการต่าง ๆ หลายวิชามีความสัมพันธ์กันต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน ครูอาจใช้วิธีสอนหลายรูปแบบ เช่น การอภิปราย การเล่านิทาน การศึกษานอกสถานที่ การสาธิต การปฏิบัติการทดลอง การเล่นเกม เป็นต้น ดังนั้น การจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ จึงสามารถใช้วิธีสอนได้หลายรูปแบบแต่ละรูปแบบซึ่ง ไพเราะ พุ่มมั่น (ม.ป.ป. อ้างอิงใน ศิรประภา พินิตตานนท์. 2546 : 10) ได้ให้รายละเอียดดังนี้
เทคนิคการจัดประสบการณ์ มีหลายรูปแบบ ได้แก่
1. เทคนิคการเล่าเรื่อง ข่าว เหตุการณ์
2. เทคนิคการเล่นบทบาทสมมติ
3. เทคนิคการเล่านิทาน
4. เทคนิคการจัดประสบการณ์ปฏิบัติการหรือทดลอง
5. เทคนิคการสาธิต
6. เทคนิคทักษะกระบวนการกลุ่ม
7. เทคนิคดารอภิปราย/สนทนา
8. เทคนิคทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
9. เทคนิคการใช้เกม
10. เทคนิคการศึกษานอกสถานศึกษา
11. เทคนิควิธีการอื่น ๆ เพื่อใช้สอดแทรกการจัดประสบการณ์ต่าง ๆ ข้างต้น เช่น เทคนิคปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก การใช้คำถาม การร้องเพลง การท่องคำคล้องจอง การใช้ท่าทางการชมเชยให้กำลังใจเด็ก การเตรียมเด็กให้สงบ (การเก็บเด็ก)
2.4 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์
งานวิจัยต่างประเทศ
ไบรเอ้นท์และฮังเกอร์ฟอร์ด (Bryant and Hungerford. 1999 : 44 - 49) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์กลวิธีสอนความคิดรวบยอด และค่านิยมทางสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนอนุบาลโดยทดลองสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมและปัญหามลภาวะ ใช้เวลาทดลอง 1 เดือน ผลปรากฏว่า เด็กอนุบาลสามารถสร้างความคิดรวบยอดเกี่ยวกับผลสืบเนื่องของสิ่งแวดล้อม และสำนึกในหน้าที่ของพลเมืองที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและได้วิเคราะห์ว่า ความสำเร็จในการสร้างความคิดรวบยอด และค่านิยมขึ้นอยู่กับการพัฒนาการสอน ผู้สอนจะต้องให้ความรู้อย่างเพียงพอ และกระตุ้นให้เด็กรู้จักคิดเกี่ยวกับหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น สิ่งที่สำคัญที่ควรพิจารณาคือ ต้องสอนให้เด็กเข้าใจสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะสอนถึงผลสืบเนื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยในประเทศ
อุบล เวียงสมุทร ( 2540 : 63-75) ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบความพร้อมทางภาษาของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่าเรื่องประกอบหุ่นมือโดยใช้ภาษากลางควบคู่กับภาษาถิ่น และเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่าเรื่องประกอบหุ่นมือโดยใช้ภาษากลาง โดยศึกษากับเด็กอายุ 5 – 6 ปี จำนวน 60 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 30 คน กลุ่มควบคุม 30 คน การทดลองใช้เวลา 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 20 นาที ผลการทดลองพบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่าเรื่องประกอบหุ่นมือโดยใช้ภาษากลางควบคู่ภาษาถิ่น มีความพร้อมทางภาษาแตกต่างจากเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่าเรื่องประกอบหุ่นมือโดยใช้ภาษากลาง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
เนื้อน้อง สนับบุญ (2541 : 131) ได้ศึกษาเปรียบเทียบความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์เล่านิทานที่เด็กเล่าเรื่องตามรูปจากหนังสือที่เด็กเลือดเอง เด็กเล่าเรื่องตามรูปจากหนังสือที่เลือกต่อกับเพื่อน และเด็กเล่านิทานตามรูปจากหนังสือที่เด็กเลือกต่อจากครู โดยศึกษากับเด็กอายุ 5 – 6 ปี จำนวน 45 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองที่ 1 จำนวน 15 คน กลุ่มที่ 2 จำนวน 15 คน และกลุ่มทดลองที่ 3 จำนวน 15 คน การทดลองใช้เวลา 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 20 นาที ผลการทดลองพบว่า ความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์ดารเล่าเรื่องตามรูปจากหนังสือที่เด็กเลือก เด็กเล่าเรื่องตามรูปจากหนังสือที่เด็กเลือกต่อกับเพื่อน และเด็กเล่าเรื่องตามหนังสือที่เด็กเลือกต้อจากครู มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001
สนธยา อ่อนน้อม (2538 : 96) ได้ศึกษาเกี่ยวกับผลของการเสริมแรงในกิจกรรมการเล่าเรื่อง ที่มีต่อความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัย พบว่าเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเล่าเรื่องแบบครูให้การเสริมแรงมีความเชื่อมั่นในตนเองสูงกว่าเด็กที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเล่าเรื่องแบบปกติ
อรุณี เอี่ยมพงษ์ไพฑูรย์ (2538 : 54) ได้ศึกษาความพร้อมทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย พบว่าเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมสนทนาโดยการเสริมประสบการณ์คณิตศาสตร์ประกอบสื่อกับเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมสนทนาโดยการเสริมประสบการณ์คณิตศาสตร์ประกอบคำถาม มีความพร้อมทางคณิตศาสตร์ด้านความสามารถในการคิดคำนวณและความสามารถในการใช้เหตุผลแตกต่างกัน
จากงานวิจัยการจัดประสบการณ์กิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัยมีหลายลักษณะและในการจัดกิจกรรมก็สามารถจัดได้หลายรูปแบบ เช่น การปฏิบัติทดลอง การเล่าเรื่องประกอบหุ่นมือ การเล่าเรื่องตามรูปจากหนังสือ การใช้ปริศนาคำทายและเพลง ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาสูงขึ้น ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในระดับต่อไป
3. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3.1 ความหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สุเมธ ตันติเวชกุล (2541 : 21) ได้ให้ความหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง (Self Sufficience) อยู่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อน ซึ่งสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจของตนให้ดีเสียก่อน คือ สามารถให้ตัวเองอยู่ได้อย่างพออยู่พอใช้ได้มุ่งที่จะสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจให้เจริญแต่เพียงอย่างเดียวเพราะผู้สามารถมีอาชีพ และฐานะที่พอพึ่งตนเองได้ก็ย่อมจะสร้างความเจริญก้าวหน้าและฐานะทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นไปตามลำดับอย่างมั่นคงถาวรตลอดไป
ประเวศ วะสี (2541 : 16) ได้อธิบายถึง เศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพื้นฐาน เศรษฐกิจชุมชนว่าถ้าสังคมไทยทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพื้นฐานกันอย่างทั่วถึงเราสามารถขจัดความยากจนของคนทั้งประเทศ พร้อมกับสร้างฐานทางสังคมและธรมชาติแวดล้อมให้ฟื้นฟูบูรณะเพิ่มขึ้นเต็มประเทศ ความขัดแย้งที่พื้นฐาน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับบนมั่นคงและยั่งยืนเศรษฐกิจพื้นฐานหรือเศรษฐกิจชุมชน หรือเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสถึงเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2540 มีความหมายคล้ายคลึงหรือเหมือนกัน
เศรษฐกิจพื้นฐาน หมายถึง เศรษฐกิจที่คำนึงถึงการทะนุบำรุงพื้นฐานของตัวเองให้เข้มแข็งทั้งทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจพื้นฐานของสังคมก็คือ ชุมชม เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจพื้นฐานกับเศรษฐกิจชุมชนคืออย่างเดียวกัน
เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง พอเพียงสำหรับทุกคน มีธรรมชาติพอเพียง มีความรักพอเพียง มีปัญญาพอเพียง เมื่อทุกอย่างพอเพียงก็เกิดความสมดุล จะเรียกว่าความสมดุลก็ได้ เมื่อสมดุลเป็นปกติ สบายไม่เจ็บไม่ไข้ ไม่วิกฤต เศรษฐกิจพื้นฐานกับเศรษฐกิจชุมชนล้วนมุ่งไปสู่ เศรษฐกิจพอเพียง ข้อสำคัญ เมื่อพูดถึงเศรษฐกิจพื้นฐานต้องไม่มองเรื่องเศรษฐกิจแบบแยกส่วน แต่เป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนความเข้มแข็งของสังคมหรือชุมชน อาศัยการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเป็นเครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ
ลักษณะ 5 ประการของเศรษฐกิจพื้นฐาน (ประเวศ วะสี. 2541 : 20 - 22)
1. เป็นเศรษฐกิจสำหรับคนทั้งมวล ไม่ใช่เศรษฐกิจที่ให้ความร่ำรวยให้คนส่วนน้อย แต่ทิ้งคนส่วนใหญ่ให้ยากจน
2. มีพื้นฐานอยู่ที่ความเข้มแข็งของชุมชน
3. มีความเป็นบรรณาการ คือไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจโดด ๆ แต่เชื่อมโยงกับสังคม
วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมพร้อมกันไป
4. อยู่บนพื้นฐานความเข้มแข็งของตนเอง
5. การจัดการและนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มเติมความก้าวหน้าให้แก่เรื่องพื้นฐาน ทำให้มีพลวัตอย่างไม่หยุดนิ่ง แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบพอเพียงเป็นทางรอดของสังคมไทยเป็นแนวคิดปัจจุบันในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเป็นการทำอะไรด้วยด้วยการพึ่งตนเองเป็นสำคัญ ต้องเติบโตอย่างมีทุกอย่างพอเพียงแบ่งปันพอเพียง มีตลาดพอเพียง มีวัตถุดิบพอเพียง มีความรู้พอเพียง มีการผลิตพอเพียงที่สำคัญคือ มีความดีพอเพียง และมีกฎหมายพอเพียง ไม่ใช่ทำอะไรแบบไปพึ่งคนอื่นเขาหมด เช่น การพยายามผลิตสินค้า ก็ต้องใช้วัตถุดิบของเราเองที่มีอยู่ ไม่ใช่ไปกู้หนี้ยืมสินเขามาลงทุน แต่ถ้าหากจำเป็นต้องมีการกู้ยืมแล้วจะต้องนำไปใช้ประกอบอาชีพ ไม่ใช่นำไปใช้จ่ายในทางอื่น เป็นต้น การทำเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เราแข็งแรงตรงไหนก็ต้องเริ่มคิดจากตรงนั้นและเริ่มหาทุกสิ่งทุกอย่างที่มีพอเพียง โดยเฉพาะในชนบท ซึ่งมีพื้นฐานทางด้านการเกษตร การพึ่งตนเองได้แบบพออยู่พอกินของครอบครัวในชนบทคือปลูกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก มีเหลือก็ขาย พอขายก็มีเงินออม ดังนั้นการมีตลาดพอเพียงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องมีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เข้าไปร่วมกับองค็กรชุมชนทำการค้าขายร่วมกัน เพื่อให้องค์กรชุมชนที่พึ่งตนเองได้จะมีฐานะพื้นฐานมาจากครอบครัวที่มีการบริโภคพอเพียงและมีเงินออมมารวมกัน เพื่อที่จะทำสวัสดิการร่วมกันผลิตร่วมกัน ค้าขายร่วมกัน กลายเป็นชุมชนที่พึ่งตนเองได้ สามารถดูแลครอบครัว ดูแลเด็ก คนชรา สามารถขยายงานรับคนว่างงานหรือญาติพี่น้องที่ตกงานได้ ดังนั้นเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่กระบวนการทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นกระบวนการทางด้านสังคมด้วย
จากความหมายดังกล่าว สรุปได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ความสามารถในการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย อุ้มชุตัวเองได้ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง รู้จักอดออม ไม่ฟุ่มเฟือย อยู่อย่างประมาณตน ใช้จ่ายไม่เกินรายรับ มีการผลิตเพื่อให้พอมีพอกินในครอบครัว และมีความเอื้อเฟื้อในชุมชน ทะนุบำรุงพื้นฐานตัวเองให้เข้มแข็งทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ
3.2 หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (2543 : 11 –12 ) กล่าวถึงความสำคัญของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแนวทางปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า “ความพอเพียง” หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีดอสมควรต้อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ต้องอาศัยความรอบรู้และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม มีความพากเพียร อดทน “เกษตรทฤษฎีใหม่” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามแนว“เศรษฐกิจ
พอเพียง” แต่อย่างใด เพราะยังส่วนอื่น ๆ อีกมาก
สิปปนนท์ เกตุทัต (2543 : 2 – 3) กล่าวถึงการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นปรัชญานำทางในการนำไปสู่สังคมไทยที่พึงประสงค์ คือเป็นสังคมที่มีความเข้มแข็ง มีดุลยภาพทั้ง 3 ด้าน ได้แก่สังคมคุณภาพ สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ และสังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรตามกรอบวิสัยทัศน์ และทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 – 2549) นั้นมีหลักปฏิบัติคือ ยึดทางสายกลาง การรู้จักพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีและการรู้เท่าทันโลก
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (2543 : 18) ได้กล่าวถึงการจัดทำแผนแม่บท เพื่อดำเนินงานให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ว่ายึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดปรัชญาหลัก โดยคำนึงถึงประเด็นดังต่อไปนี้
1. การดำเนินการทางสายกลางที่อยู่บนพื้นฐานความพอดี เน้นการพึ่งตนเอง ขณะเดียวกันให้ก้าวทันโลกยุคโลกาภิวัฒน์
2. ความพอเพียงที่เน้นการผลิตและการบริโภคอยู่บนความพอประมาณ มีเหตุผล
3. ความสมดุลและการพัฒนายั่งยืน เป็นการพัฒนาอย่างมีองค์รวม มีความสมดุลระหว่างกระแสการแข่งขันจากโลกโลกาภิวัฒน์ และกระแสท้องถิ่นนิยม มีความหลากหลายในโครงสร้างการผลิต มีการใช้ทุนที่มีอยู่ในสังคมให้มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตที่ดีงาม
4. การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรในการเตรียมความพร้อม รู้เท่าทันต่อผลกระทบที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นในการปรับตัว มีการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล มีความเข้มแข็งมั่นคงและยั่งยืน
5. การเสริมสร้างจิตใจคนและพัฒนาคนในชาติให้เป็นคนดี มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ สุจริต มีสติปัญญา มีความเพียร อดทนและรอบคอบ
จากความหมายของ ”เศรษฐกิจพอเพียง” และแนวทางปฏิบัติที่สำคัญสรุปได้ว่า
”หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางการดำรงชีวิตของบุคคลไปจนถึงแนวทางการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ขององค์กรทุกระดับ โดยมีแนวปฏิบัติที่เป็นหลักสำคัญ คือ การยึดทางสายกลาง ซึ่งประกอบด้วย ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีต้อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากความเปลี่ยนแปลง สำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันนั้นต้องอาศัยความรอบรู้ และรอบคอบในการดำเนินงานทุกขั้นตอน รวมทั้งการเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจให้มีสำนึกในคุณธรรม ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงมีแนวทางปฏิบัติที่ยึดทางสายกลาง ดังนี้
1. การบริโภคด้วยปัญญา ได้แก่ การมีเหตุผลในการเลือกใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เลือกกิน เลือกใช้ เลือกของเล่นที่ผลิตด้วยตนเอง หมายถึงสิ่งที่ตนเองผลิต หรือสิ่งของที่ผลิตในประเทศ
2. การพึ่งพาตนเองได้แก่ การรู้จักช่วยเหลือตนเอง มีความรอบคอบในการปฏิบัติงานต่าง ๆ ด้วยตนเอง มีความรู้ที่นำมาใช้และพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้ ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม (2546 :150) ได้ให้ความหมายของการพึ่งพาตนเองไว้ดังนี้
2.1 การพึ่งพาตนเองเป็นสภาวะ หมายถึง ความสามารถของคนที่จะช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด โดยไม่เป็นภาระคนอื่นมากเกินไป มีความสมดุล ความพอดีในชีวิต เป็นสภาวะทางจิตที่เป็นอิสระ มีความพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่ มีสิ่งจำเป็นอันเป็นปัจจัยสี่พอเพียง เป็นความพร้อมของชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจ
2.2 การพึ่งตนเอง หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อม เราไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีสมัยใหม่ ถ้าสิ่งนั้นสนับสนุนให้เรามีเวลามากพอที่จะเริ่มสร้างสิ่งที่เราทำด้วยความยากลำบากให้มันง่ายขึ้น ฉะนั้น เราจะใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสิ่งที่เอื้อต่อการพึ่งตนเองแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวก จนทำให้เราพึ่งตนเองไม่ได้ก็ไม่น่าถูกต้อง
2.3 การพึ่งตนเอง หมายถึง การมีสวัสดิการและความมั่นคงให้กับชีวิตของตนเองในปัจจุบันจนถึงอนาคต สวัสดิการตัวนี้พร้อมที่จะตอบสนองเราทันที โดยที่ไม่ต้องเรียกร้องให้ใครมาจัดสวัสดิการให้ หรือให้ใครมาช่วยเหลือ เราสามารถที่จะช่วยตนเองหรือพึ่งพาตนเองได้ในโอกาสนั้น ๆ
2.4 การพึ่งตนเอง เป็นการจัดชีวิตให้สัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม สมพันธ์กับคน สังคม ธรรมชาติรอบตัว
3. การประหยัด ได้แก่ การมีความพอประมาณในการใช้ทรัพยากรตามความจำเป็นในการดำเนินงานหรือความจำเป็นขั้นพื้นฐานของครอบครัว รู้จักรักษาสมบัติของตนเองและของโรงเรียนจะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงแบบพอเพียงเป็นทฤษฎีและหลักการที่จะเป็นแนวทางให้คนไทยทุกคน สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างมั่นคง บนกระแสของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี
3.3 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นันทา ชุติแพทย์วิภา (2545 : 104 –109) ได้ศึกษาเรื่องของผลการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนพระมารดากิจจานุเคราะห์ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2544 ผลการวิจัยพบว่า ผลสัมฤทธิ์การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เพราะปัจจัยเกี่ยวกับการสร้างองค์ความรู้และรูปแบบการสอนแบบการให้สืบค้นก่อนการทดลอง การลงมือปฏิบัติด้วยการทำโครงการที่มีการดำเนินงานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การสรุปผลการทดลองด้วยการเขียนผังมโนมติ และการนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าด้วยแฟ้มสะสมผลงาน
ทักษะการจัดการสิ่งแวดล้อมของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เพราะปัจจัยเกี่ยวกับลักษณะของกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นการฝึกตามขั้นตอนของการจัดการ ซึ่งผู้เรียนจะเกิดทั้งทางด้านการวางแผนและการนำไปปฏิบัติจริง และระยะเวลาในการฝึกการวางแผนและปฏิบัติตามโครงการจนเกิดความชำนาญ และจิตสำนึกต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลังการเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เพราะปัจจัยเกี่ยวกับการสร้างองค์ความรู้ด้วยการบูรณาการความรู้ ทักษะต่าง ๆ และคุณธรรม
จริยธรรมเข้าด้วยกัน เพื่อให้นักเรียนได้เห็นแนวทางการนำความรู้ไปใช้ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระยะเวลาที่จะให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติกิจกรรมจนสามารถบอกคุณค่าของสิ่งที่ปฏิบัติได้
พระขวัญชัย ศรีพรรณ์ (เกตุธมโม) (2546 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเปรียบเทียบการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการใช้แนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนวิชาพุทธศาสนา โดยการใช้หลักการสอนแบบอริยสัจกับการสอนแบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์
ผลการวิจัยพบว่า
1. นักเรียนที่เรียนวิชาพุทธศาสนา โดยใช้การสอนแบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2. นักเรียนที่เรียนวิชาพุทธศาสนา โดยใช้การสอนแบบกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ มีการใช้แนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
สมพร พงษ์เสถียรศักดิ์ (2546 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการประพฤติตนตามคุณธรรมในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นปีที่ 1 ที่เรียนหลักธรรมในพระพุทธศาสนา โดยการสอนแบบโยโสมนสิการกับการสอนแบบไตรสิกขา
ผลการวิจัยพบว่า
1. นักเรียนที่เรียนหลักธรรมในพระพุทธศาสนาด้วยการสอนแบบโยโสมนิสการกับการสอนแบบไตรสิกขา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
2. นักเรียนที่เรียนหลักธรรมในพระพุทธศาสนาด้วยการสอนแบบโยโสมนิสการกับการสอนแบบไตรสิกขา มีการประพฤติตนตามคุณธรรมในปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
นภัสวรรณ ชื่นฤาดี (2550 : 88 – 90) ได้ศึกษาการพัฒนาสาระการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจแบบพอเพียง ของนักเรียนหญิงอายุ 5 – 6 ปี ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 ปีการศึกษา 2549 ของโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา กรุงเทพมหาคร
ผลการวิจัยพบว่า
สาระการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริงในห้องเรียน สร้างพื้นฐานคุณลักษณะ 3 ด้าน คือ ด้านการบริโภคด้วยปัญญา ด้านการพึ่งตนเอง และด้านการประหยัด
1. คุณลักษณะด้านการบริโภคด้วยปัญญา เด็กเลือกบริโภคสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อตนเอง สามารถรับประทานอาหารไทย ขนมไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานของภูมิปัญญาไทยได้ มีแนวคิดในการผลิตและบริโภคสิ่งที่ตนเองผลิต เป็นการเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจแบบพอเพียง
2. คุณลักษณะด้านการพึ่งพาตนเอง เด็กมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน การปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ จนสำเร็จ ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณที่ทำกิจกรรม เก็บเครื่องมือ เครื่องใช้เข้าที่ได้เรียบร้อยด้วยตนเองหลังการเล่นและการใช้งาน
3. คุณลักษณะด้านการประหยัด เด็กมีความระมัดระวังในการใช้สื่อ – อุปกรณ์ เพื่อไม่ให้เกิดการเสียหาย สามารถใช้วัสดุ – อุปกรณ์ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำวัสดุมาประดิษฐ์ของใช้ได้ มีความพอประมาณในการกิน การใช้ซึ่งสาระการเรียนรู้ตามคุณลักษณะพื้นฐานเศรษฐกิจแบบพอเพียง เมื่อวิเคราะห์ด้วยกรอบของหลักสูตการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 สาระที่เกิดขึ้นครอบคลุมหลักสูตรส่งเสริมให้เด็กเกิดพัฒนาการโดยองค์รวมทั้งทางด้านร่างกาย คือ ความแข็งแรง ความยืดหยุ่น การทำงานประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อเล็ก – กล้ามเนื้อใหญ่ ด้านจิตใจ – อารมณ์ เด็กเกิดความสุขในการปฏิบัติกิจกรรม การแสดงออกอย่างอิสระ ด้านสังคม เด็กเรียนรู้การทำงานกลุ่ม การเรียนรู้การอยู่ร่วมกันบนวิถีทางประชาธิปไตยและการแบ่งปันประสบการณ์วิถีไทยของตนเอง ด้านสติปัญญา เด็กเกิดกระบวนการคิด พิจารณา ไตร่ตรอง เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างมีเหตุผล ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาคำตอบและสร้างองค์ความรู้ ในสิ่งที่ตนสนใจ ด้านคุณธรรม – จริยธรรม เด็กรู้จักโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อแบ่งปัน ขยัน อดทน และซื่อสัตย์ ซึ่งการเรียนรู้ที่มากล่าวนี้สามารถปูพื้นฐานได้ตั้งแต่ปฐมวัย โดยเริ่มจากสิ่งที่เด็กสามารถปฏิบัติได้ตามวัย การดูแลเอาใจใส่และความร่วมมือในการพัฒนาเด็กให้ดำเนินไปในเรื่องเดียวกันของครูและผู้ปกครอง และต้องส่งเสริมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
บทที่ 3
วิธีดำเนินการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ดำเนินการศึกษาเรียนรู้โดยใช้การวิจัยในชั้นเรียน (Action Research in the classroom) รวบรวมข้อมูลด้วยการบันทึกพฤติกรรมเชิงคุณภาพจากการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ผ่านกิจกรรมจากการลงมือปฏิบัติ โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า เปิดโอกาสให้เด็กได้สนทนาซักถาม แสดงความคิดเห็น ค้นหาคำตอบจากสิ่งที่เด็กสนใจและต้องการเรียนรู้ในการวิจัยผู้ทำการวิจัยมีขั้นตอนดำเนินการศึกษาตามหัวข้อต่อไปนี้
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
2. ครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
3. การสร้างเครื่องมือและหาคุณภาพเครื่องมือ
4. วิธีการดำเนินการทดลอง
5. การเก็บรวบรวมข้อมูล
6. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัย
ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นเด็กปฐมวัย ชาย -หญิง อายุระหว่าง 3 - 4 ปี ชั้นอนุบาล
ปีที่ 1 ปีการศึกษา 2551 ของโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน 5 ห้อง จำนวน 100 คน
การเลือกกลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชาย -หญิงอายุระหว่าง 3 - 4 ปี
ชั้นอนุบาลที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 ของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (purposive sampling) 1 ห้องเรียน เพื่อให้เป็นกลุ่มตัวอย่าง
2. เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. แผนการจัดประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2. แบบสังเกตพัฒนาการทางสังคมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
3. แบบบันทึกพฤติกรรมและคำพูดเด็ก
3. การสร้างและการหาคุณภาพของเครื่องมือ
3.1 การสร้างแผนการจัดประสบการณ์กิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง มีลำดับขั้นตอนดังนี้
1. ศึกษาเอกสารเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2542 )
2. ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ
นภัสวรรณ ชื่นฤดี (2550) พระขวัญชัย เกตุธรรมโม (2546) และสมพร พงษ์เสถียรศักดิ์ (2546)
3. ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเสริมประสบการณ์ของ
เบญจะ คำมะสอน (2544) นงเยาว์ คลิกคลาย (2543) และศิรประภา พินิตตานนท์ (2546)
4. สร้างแผนการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มุ่งเน้นให้เด็กได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ ฝึกการทำงาน การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม
ซึ่งมีกรอบของรายละเอียดดังนี้
2.1 ชื่อกิจกรรม
2.2 จุดประสงค์ของการทำกิจกรรม
2.3 เนื้อหา
2.4 การบูรณาการกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2.5 ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
2.6 สื่อ/อุปกรณ์
2.7 ขั้นการประเมินผล
4. นำแผนการจัดกิจกรรมกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน เพื่อตรวจพิจารณาและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมโดยใช้เกณฑ์การตัดสิน 2 ใน 3 ท่านของผู้เชี่ยวชาญที่มีความคิดเห็นตรงกัน ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญดังนี้
1. อาจารย์พรรัก อินทามระ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต
2. อาจารย์กันตวรรณ มีสมสาร ผู้จัดการโรงเรียนกันตวรรณ จังหวัดปทุมธานี
3. อาจารย์เนาวรัตน์ เกิดพิบูลย์ครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ผลการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ 2 ใน 3 ท่าน มีความเห็นตรงกัน คือควรตัดคำว่าเริ่มในพฤติกรรมต่าง ๆ ออกเพราะเด็กอายุ 3 ขวนสามารถทำได้แล้วและผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นสอดคล้องกับข้อกระทงความเป็นส่วนใหญ่
5. นำแผนการจัดกิจกรรมกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
6. นำแผนการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ปรับปรุงเหมาะสมแล้วไปจัดทำเป็นฉบับสมบูรณ์ แล้วนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างในการทดลอง
3.2 การสร้างแบบสังเกตพัฒนาการทางสังคม มีลำดับขั้นตอนดังนี้
1. ศึกษาคู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546
2. ศึกษาคู่มือการประเมินพัฒนาการเด็กของกระทรวงศึกษาธิการ
3. สร้างแบบสังเกตพัฒนาการด้านสังคมของเด็กปฐมวัย ที่มุ่งเน้นให้เกิด 3 คุณลักษณะ และ 2 เงื่อนไข คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตนเอง กับเงื่อนไขความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม
4. นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในข้อ 1และข้อ 2 มาสร้างเกณฑ์และดัดแปลงเป็นแบบสังเกต ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กตามระดับอายุ
เกณฑ์การสังเกต
3 หมายถึง การแสดงพฤติกรรมบ่อยครั้งหรือจนเป็นปกตินิสัย
2 หมายถึง การแสดงพฤติกรรมบ้างเป็นครั้งคราว
1 หมายถึง การแสดงพฤติกรรมน้อยมากหรือแทบจะไม่ปรากฎ
3. สร้างคู่มือในการดำเนินการสังเกตพัฒนาการทางสังคมของเด็กปฐมวัย
4. นำแบบสังเกตพัฒนาการทางสังคม ไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจเพื่อตรวจหาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาของแบบสังเกต จำนวน 3 ท่าน ดังนี้
1. อาจารย์พรรัก อินทามระ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต
2. อาจารย์กันตวรรณ มีสมสาร ผู้จัดการโรงเรียนกันตวรรณ
3. อาจารย์เนาวรัตน์ เกิดพิบูลย์ ครูใหญ่โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในพระอุปถัมภ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ผลการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่านลงความเห็นและให้คะแนนรวม โดยใช้เกณฑ์ค่าดัชนีความสอดคล้องของแบบสังเกตพัฒนาการทางสังคม
5. นำแบบสังเกตและคู่มือดำเนินการสังเกตพัฒนาการทางสังคมของเด็กปฐมวัยมาปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจำนวน 2 ใน 3 ท่าน
6. ปรับปรุงตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญที่สอดคล้องกันอย่างน้อย 2 ใน 3 ท่าน เพื่อแสดงหลักฐานความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา แล้วนำคะแนนที่ได้จากการลงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน หาค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างพฤติกรรมกับจุดประสงค์ IOC มากกว่าหรือเท่ากับ 0.5 จึงถือว่าใช้ได้ (บุญเชิด ภิญโญอนันตพงษ์. 2526 : 89) ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้ในแต่ข้อได้ดัชนีความสอดคล้องระหว่างพฤติกรรมกับจุดประสงค์ IOC = 1.00
7. นำแบบสังเกตพัฒนาการทางสังคมของเด็กปฐมวัยที่ปรับปรุงเหมาะสมแล้วไปจัดทำเป็นฉบับสมบูรณ์ เพื่อนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างในการทดลอง
4. แบบแผนการทดลองและวิธีดำเนินการทดลอง
ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) ซึ่งผู้วิจัยได้ดำเนินการทดลองโดยใช้แผนการทดลองแบบ One – Group Pretest – Posttest Design (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 249) ตามตาราง 1 ดังนี้
ตาราง 1 แบบแผนการทดลอง
กลุ่ม
Pretest
Treatment
Posttest
ER
T1
X
T2
ความหมายของสัญลักษณ์
ER คือ กลุ่มตัวอย่างในการทดลอง
T1 คือ การทดสอบก่อนการทดลอง (Pretest) โดยใช้แบบสังเกตพัฒนาการทาง สังคมของเด็กปฐมวัย
X คือ การจัดกิจกรรมการเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียง
T2 คือ การทดสอบหลังการทดลอง (Posttest) โดยใช้แบบสังเกตพัฒนาการทางสังคมของเด็กปฐมวัย
วิธีดำเนินการทดลองมีขั้นตอนดังนี้
1. ทำการสังเกตพัฒนาการทางสังคม (pretest) ด้วยแบบสังเกตพัฒนาการทางสังคมของเด็กปฐมวัยที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
2. ผู้วิจัยดำเนินการทดลองโดยการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเวลา 10 สัปดาห์ โดยทดลองสัปดาห์ละ 3 วัน ในวันพุธ วันพฤหัสบดีและวันศุกร์ วันละ 1 ครั้ง ครั้ง ละ 30 นาที ระหว่างเวลา 09.20 – 09.50 น. รวมทั้งสิ้น 30 ครั้ง
3. นำข้อมูลจากการทดลองไปวิเคราะห์ตามวิธีการทางสถิติการดำเนินการทดลอง
หมายเหตุ : หน่วยการเรียนแต่ละสัปดาห์ที่จัดกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับหน่วยการเรียนของโรงเรียน
3. นำข้อมูลจากการทดลองไปวิเคราะห์ตามวิธีการทางสถิติการดำเนินการทดลอง
4. เมื่อดำเนินการทดลองครบ 16 สัปดาห์ ผู้วิจัยทำการทดสอบหลังการทดลอง (Posttest) กับกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้แบบสังเกตฉบับเดียวกันที่ใช้สังเกตก่อนการทดลอง
5. การเก็บรวบรวมข้อมูล
ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการสังเกตพฤติกรรมด้านสังคมของเด็กปฐมวัยโดยการสังเกตก่อนการทดลอง และหลังการทดลองแล้วนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ตามวิธีการทางสถิติต่อไป
6. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์
ผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้จากการทดลองไปวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ ดังนี้
1. สถิติพื้นฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
1.1 หาค่าเฉลี่ย (Mean) โดยคำนวณจากสูตร (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 73)
เมื่อ แทน คะแนนเฉลี่ย
แทน ผลรวมของคะแนนทั้งหมด
แทน จำนวนนักเรียนในกลุ่มตัวอย่าง
1.2 หาค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) โดยคำนวณจากสูตร (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 79)
เมื่อ S แทน ความเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนน
N แทน จำนวนนักเรียนในกลุ่มตัวอย่าง
แทน ผลรวมของคะแนนทั้งหมด
แทน ผลรวมของคะแนนนักเรียนแต่ละตัวยกกำลังสอง
2. การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ
2.1 สถิติที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหา (Content Validity) โดยคำนวณจากสูตร (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 250)
เมื่อ แทน ดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อสอบกับจุดประสงค์การ
เรียนรู้ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
แทน ผลรวมของคะแนนความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
แทน จำนวนผู้เชี่ยวชาญ
3. สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน
3.1 เปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนก่อนทดลองและหลังการทดลอง โดยใช้ t – test แบบ Dependent Samples โดยคำนวณจากสูตร (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 104)
โดย df = N – 1
เมื่อ แทน ค่าสถิติที่ใช้พิจารณาใน t – distribution
แทน ความแตกต่างของคะแนนแต่ละคู่
แทน จำนวนคน
แทน ผลรวมทั้งหมดของผลต่างของคะแนนระหว่างก่อนและ
หลังการทดลอง
แทน ผลรวมของกำลังสองของผลต่างของคะแนนระหว่าง
ก่อนและหลังการทดลอง
บทที่ 4
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
สัญลักษณ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
เพื่อให้การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการทดลองและการแปลความหมายจากการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นที่เข้าใจตรงกัน ผู้วิจัยจึงได้กำหนดสัญลักษณ์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลดังนี้
N แทน จำนวนนักเรียนในกลุ่มตัวอย่าง
1 แทน คะแนนเฉลี่ยก่อนการทดลอง
2 แทน คะแนนเฉลี่ยหลังการทดลอง
S แทน ความเบี่ยงเบนมาตรฐานของคะแนน
D แทน ค่าความแตกต่างของคะแนนแต่ละคู่
แทน ผลรวมทั้งหมดของผลต่างของคะแนนระหว่างก่อนและหลังระหว่างการทดลอง
แทน ผลรวมของกำลังสองของผลต่างของคะแนนระหว่างก่อนและหลังการทดลอง
t แทน ค่าที่ใช้ในการพิจารณาใน t – distribution
* แทน ค่าความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ. 05
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
เปรียบเทียบพัฒนาการด้านสังคมก่อนและหลังการทดลองของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วิเคราะห์โดยใช้ t – Dependent
จากตาราง 1 ตารางการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของพัฒนาการด้านสังคมของเด็กปฐมวัย อายุ 3 ขวบ ก่อนและหลังการจัดกิจกรรม
***จากตาราง 1 แสดงให้เห็นว่าเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีพัฒนาการด้านสังคมก่อนกับหลังการทดลองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยหลังการทดลองเด็กปฐมวัย มีพัฒนาการด้านสังคมสูงกว่าการทดลอง
***ตาราง 2 การเปรียบเทียบพัฒนาการด้านสังคมของเด็กปฐมวัย อายุ 3 ขวบ ที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักเศรษฐกิจพอเพียง
*มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
จากตาราง 2 แสดงว่าพัฒนาการด้านสังคมของเด็กปฐมวัย อายุ 3 ขวบ หลังจากที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักเศรษฐกิจพอเพียงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่กล่าวว่า พัฒนาการด้านสังคมของเด็กปฐมวัย อายุ 3 ขวบ ที่ได้รับการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์บนพื้นฐานหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มสูงขึ้น
Saturday, December 20, 2008
Subscribe to:
Posts (Atom)